ID line :
รวมคำถาม คำตอบ ที่คุณอยากรู้และถามกันมากที่สุด
โดยฝ่ายหญิงควรเริ่มมีการคุมกำเนิดตั้งแต่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (เริ่มมีประจำเดือน) ที่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือตั้งแต่เมื่อคิดจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ และควรจะคุมกำเนิดไปเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะถึงวัยหมดประจำเดือน แม้ว่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปีก็ตาม (หากอายุน้อยกว่า 50 ปี และยังมีประจำเดือนและมีเพศสัมพันธ์อยู่ ก็ควรจะคุมกำเนิดไปจนกว่าประจำเดือนจะหมดถาวรแล้วประมาณ 2 ปี แต่ถ้าอายุมากกว่า 50 ปี ก็ควรจะคุมกำเนิดไปจนกว่าจะหมดประจำเดือนถาวรแล้ว 1 ปี)
1. เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก
2. เพื่อสุขภาพที่ดีของพ่อแม่ การมีลูกห่างกันจะมีผลดีต่อพ่อแม่ในเรื่องของสุขภาพ เพราะคุณแม่จะได้มีโอกาสพักฟื้นร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม มีทรวดทรงกลับมาคล้ายตอนยังไม่มีลูกมากที่สุด แต่การมีลูกติดกันเกินไป ร่างกายของคุณแม่จะทรุดโทรม สุขภาพไม่ดี ดูแก่ก่อนวัย อาจมีอาการแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์และในขณะคลอดได้ เช่น ลูกคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิต ตกเลือด มีเลือดจาง ติดเชื้อหลังคลอด ฯลฯ และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานนอกบ้านของคุณแม่ เพราะจะส่งผลในเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพการงานหรือได้โบนัสน้อยลง เพราะคุณแม่ต้องหยุดงานบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการลาไปตรวจครรภ์ ลาป่วย ลาคลอด ฯลฯ ซึ่งบางบริษัทอาจถึงขั้นเลิกจ้างไปเลยก็มี ส่วนคุณพ่อนั้นนอกจากจะต้องขยันทำมาหากินเพื่อให้ได้เงินมาดูแลครอบครัวมากขึ้นกว่าเดิม ก็ยังต้องมีเวลารับผิดชอบในการดูแลแม่และลูกน้อยมากขึ้นด้วย และยังต้องช่วยคุณแม่ทำงานบ้านหรือดูแลบ้าน ซึ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของคุณพ่ออย่างแน่นอน
3. เพื่อสุขภาพของลูกการที่คุณแม่มีลูกถี่เกินไปก็จะมีปัญหากับลูกที่ต้องเลี้ยงดูอยู่เดิมและลูกซึ่งกำลังจะคลอดตามมาติด ๆ เพราะในขณะที่ลูกคนแรกยังไม่ทันโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ คุณแม่ก็เริ่มตั้งท้องใหม่แล้ว จึงทำให้คุณแม่ไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลลูกได้ดีเท่าที่ควร คุณแม่บางรายอาจต้องหยุดให้นมแม่แล้วหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทน ลูกจึงมีโอกาสท้องร่วงและติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งลูกวัยนี้เป็นวัยกำลังซนด้วยแล้ว โอกาสประสบอุบัติเหตุก็มีมากขึ้นหากไม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ตกบันได ตกน้ำ โดนน้ำร้อนลวก ฯลฯ และยังอาจเกิดผลเสียทางด้านจิตใจกับลูกด้วย คือลูกคนแรกที่ยังเล็กอยู่จะเกิดอิจฉาน้อง ไม่รู้จักโต งอแง หรือคอยรังแกน้อง จนเกิดเป็นผลเสียในระยะยาว เพราะลูกวัยนี้ยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจและรักน้อง นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ระบุว่า “เด็กที่เกิดตามกันมาติด ๆ จะมีไอคิวหรือความฉลาดโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีลูกห่าง ๆ” (เข้าใจว่าสารอาหารและแร่ธาตุสำคัญต่อการพัฒนาสมองของลูกมีไม่เพียงพอ เพราะถูกใช้ไปกับการตั้งครรภ์และการคลอด
1.การคุมกำเนิดชั่วคราว คือ วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้เพียงชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก แต่ยังต้องการที่จะมีลูกในอนาคต หรือในกรณีของคู่สมรสที่มีลูกแล้วและยังอยากมีลูกอีก หรือคู่สมรสที่มีลูกพอแล้วแต่ต้องการรอให้ลูกโตก่อนจึงจะหยุดการมีลูก ก็ควรจะใช้วิธีคุมกำเนิดชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะพร้อมทำหมัน โดยการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวสามารถแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ ดังนี้•การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural birth control) เป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ โดยอาศัยหลักทางสรีรวิทยาของการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง การตกไข่ และการมีประจำเดือน มาช่วยในการกำหนดวันปลอดภัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์หรือยาฮอร์โมนในการคุมกำเนิดแต่อย่างใด ซึ่งการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ดังนี้•การงดมีเพศสัมพันธ์ (Abstinence) •การหลั่งน้ำอสุจิภายนอกช่องคลอด (Coitus interruptus) •การกลั้นไม่หลั่งน้ำอสุจิ (Coitus reservatus) •การสวนล้างช่องคลอด & การถ่ายปัสสาวะ (Douching and Urination) •การหาระยะปลอดภัย•การนับหน้า 7 หลัง 7 •การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method, Knaus-Ogino method) •การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard days method) •การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus) •การวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature) •การสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบการตรวจวัดอุณหภูมิ (Sympto-thermal method) •การใช้ชุดตรวจการตกไข่ (Ovulation indicator testing kits) •การให้นมบุตรหลังคลอดภายใน 6 เดือน (Lactational amenorrhea)
•การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เป็นการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิง คือ เอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน บางชนิดอาจจะต้องใช้ฮอร์โมนทั้งสองอย่าง แต่บางชนิดก็มีฮอร์โมนเพียงชนิดเดียว โดยรวมแล้วการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนแต่ละวิธีมีข้อดีอยู่มาก ให้ผลในการป้องกันสูง แต่ก็มีข้อเสียหรือผลข้างเคียงบ้างเล็กน้อย ได้แก่•ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptionpill)
•ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptive pill) •ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen only pill)
•ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception pill) •ยาฉีดคุมกำเนิด (Combined injectable)•ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Lunelle, Cyclofem) •ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Depo-Provera)
•ยาฉีดฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone injection) (ไม่มีข้อมูล) •ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant) •แผ่นแปะคุมกำเนิด (Contraceptive patch) •วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing) •ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน (IUD with progestogen)
•การคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยวิธีอื่น ๆ•ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (IUD with copper) •ถุงยางอนามัยชาย (Male latex condom) •ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom) •ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal) •หมวกครอบปากมดลูก (Cervical Cap) •ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) •ฟองน้ำคุมกำเนิด (Contraceptive Sponge) •ยากลุ่มเซิร์ม (Ormeloxifene) (ไม่มีข้อมูล)
2.การคุมกำเนิดถาวร คือ วิธีการคุมกำเนิดที่สามารถคุมกำเนิดไปได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เองอีก เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเพียงพอแล้วและไม่ต้องการมีลูกอีก โดยแบ่งเป็นการทำหมันชายและการทำหมันหญิง เสียเวลาทำเพียงครั้งเดียว สะดวก เจ็บไม่มาก ปลอดภัย ได้ผลดีมาก หลังจากนั้นก็ไม่ต้องไปหาหมออีกเลย และไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงเหมือนกับการใช้วิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้•การทำหมันหญิง (Female sterilization)•การทำหมันแห้ง & การทำหมันเปียก หรือการทำหมันผ่าตัดแบบทั่วไป (Tubal ligation) •การทำหมันหญิงแบบอุดท่อนำไข่ (Essure) •การทำหมันหญิงโดยการตัดมดลูก (Hysterectomy)
•การทำหมันชาย (Male sterilization)
ก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิดแบบใด การเลือกควรเป็นไปโดยความสมัครใจ โดยมีข้อควรพิจารณา คือ ความสะดวกในการใช้ ความสะดวกในการเข้าถึง ระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด ความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์ ความสามารถในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคประจำตัวหรือข้อเสียของการคุมกำเนิดแต่ละวิธี และควรพิจารณาด้วยว่าเรามีลูกพอแล้วหรือยัง ถ้ายังมีไม่พอก็ควรจะเลือกวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว แต่ถ้ามีพอแล้วก็ควรเลือกวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรด้วยการทำหมัน ดังข้อมูลด้านล่าง •ผู้ที่มีอายุ 15-19 ปี แม้ว่าตนจะอยากมีลูกก็ตาม แต่ก็ยังไม่สมควรที่จะมีลูก ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย จึงควรคุมกำเนิดแบบชั่วคราวไว้ก่อน •ผู้ที่มีอายุ 20-39 ปี ถ้ายังไม่มีลูกหรือยังไม่พร้อมที่จะมีลูก หรือผู้ที่มีลูกแล้ว 1-2 คน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีลูกอีกหรือไม่ ควรเลือกคุมกำเนิดแบบชั่วคราวไปก่อน ส่วนผู้ที่มีลูก 3 คนขึ้นไป ในวัยนี้ควรเลือกคุมกำเนิดแบบถาวร (ทำหมันชายหรือหญิง) •ผู้ที่มีอายุ 40-49 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ใกล้จะหมดประจำเดือนแล้ว ถ้ามีลูก 2 คน ควรรอให้บุตรโตก่อน แล้วจึงคุมกำเนิดแบบถาวร แต่ถ้ามีลูก 3 คนขึ้นไป ถ้าไม่อยากเลือกวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรโดยการทำหมัน ก็อาจใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวไปก่อนก็ได้จนกว่าประจำเดือนจะหมด
วิธีคุมกำเนิดในปัจจุบันนี้มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี แต่วิธีคุมการกำเนิดแบบชั่วคราวที่นำมาใช้แล้วได้ผลเพียงพอหรือได้ผลดีในการป้องกันการตั้งครรภ์นั้นมีอยู่เพียงไม่กี่วิธี (ไม่รวมวิธีการคุมกำเนิดถาวรหรือการทำหมัน) ได้แก่ การหลั่งน้ำอสุจิข้างนอก, การนับระยะปลอดภัย, สวนล้างช่องคลอด, เลี้ยงลูกด้วยนมแม่, การสวมถุงยางอนามัย, ใช้ห่วงอนามัย, ยาฆ่าอสุจิ, การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด (ยาเม็ด, ยาฉีด, ยาฝัง, แผ่นแปะ, วงแหวนใส่ช่องคลอด ฯลฯ) และวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉิน (ยาคุมฉุกเฉิน) ซึ่งต่อไปนี้คือรายละเอียดการคุมกำเนิดแต่ละวิธีครับ เรามาดูกันว่าแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และคุณแม่ควรใช้วิธีใด ?
การงดมีเพศสัมพันธ์ (Abstinence) เป็นวิธีที่ได้ผลในการคุมกำเนิดแบบ 100% ประหยัด และมีความปลอดภัยที่สุด แต่ทำได้ยาก เพราะเป็นการฝืนความรู้สึกตามธรรมชาติ ขัดต่อความต้องการทางเพศและอาจเกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ จึงไม่เป็นที่นิยม
การหลั่งนอกช่องคลอด (Coitus interruptus หรือ Withdrawal method) เป็นวิธีการคุมกำเนิดอย่างหนึ่งที่เมื่อฝ่ายชายร่วมเพศไปในระยะแรกจะเป็นไปอย่างปกติ จนกระทั่งฝ่ายชายรู้สึกใกล้จะหลั่งน้ำอสุจิ ฝ่ายชายก็จะถอนอวัยวะเพศออกจากช่องคลอดก่อนที่จะถึงจุดสุดยอด และหลั่งน้ำอสุจิออกมาภายนอกช่องคลอดของฝ่ายหญิงแทน โดยไม่ให้น้ำอสุจิเปื้อนบริเวณปากช่องคลอด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิผ่านเข้าไปในช่องคลอดและในปากมดลูก เป็นวิธีที่มีโอกาสผิดพลาดได้สูงมาก เพราะในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ อาจมีเชื้ออสุจิออกมากับน้ำเมือกของฝ่ายชายบ้างแล้วบางส่วน หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายชายถอนอวัยวะเพศไม่ทันเมื่อถึงจุดสุดยอด จึงทำให้มีอสุจิส่วนหนึ่งเข้าไปในช่องคลอดได้ อีกทั้งอสุจิที่เปื้อนอยู่บริเวณปากช่องคลอดยังสามารถแหวกว่ายผ่านเมือกที่มีมาก (ในขณะที่ฝ่ายหญิงมีอารมณ์ทางเพศ) เข้าไปในช่องคลอดได้อีกด้วย
ข้อดีของการหลั่งนอก •เป็นวิธีที่ใช้ได้เสมอ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ อาศัยแต่เพียงความอดทนและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิได้ด้วยแล้ว โดยรอให้ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดก่อนก็จะส่งผลดีต่อทั้งคู่ •เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สะดวก ประหยัด ไม่ต้องเสียเงิน และไม่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ใด ๆ •ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และแผ่นแปะคุมกำเนิด •ไม่มีผลต่อประจำเดือน ประจำเดือนมาตามปกติ และเมื่อหยุดคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ภาวะการเจริญพันธุ์ก็จะกลับมาทันที
ข้อเสียของการหลั่งนอก •วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูง สามีบางคนอาจสงสัยว่าทำไมภรรยาถึงตั้งครรภ์ได้ทั้ง ๆ ที่หลั่งนอกทุกครั้ง ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่ามันมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายมาก !! •ทำให้คู่สมรสมีความสุขจากการร่วมเพศได้ไม่เต็มที่ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีโอกาสถึงจุดสุดยอดน้อยลง เพราะฝ่ายสามีต้องฝืนใจเอาอวัยวะเพศออกขณะที่จะถึงจุดสุดยอดทั้งที่ไม่อยากทำ •ในบางคู่ (โดยเฉพาะมือใหม่) มักเกิดอาการตื่นเต้นจนทำให้หลั่งเร็วหรือไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้ ความเสี่ยงก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเฉพาะโรคเอดส์ เริม หนองใน ซิฟิลิส ฯลฯ
การกลั้นไม่หลั่งน้ำอสุจิ (Coitus reservatus) เป็นกรณีที่ฝ่ายชายควบคุมตนเองไม่ให้หลั่งน้ำอสุจิออกมา เมื่อใกล้จะถึงจุดสุดยอดฝ่ายชายจะต้องค่อย ๆ บังคับตนเองให้ลดความตื่นเต้นทางเพศลง และค่อย ๆ ผ่อนคลายจนหมดไป ซึ่งวิธีการนี้ก็มีโอกาสพลาดทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ง่ายพอ ๆ กับวิธีการหลั่งนอก เพราะอาจมีเชื้ออสุจิปะปนมากับน้ำหล่อลื่นของเพศชายในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
การนับหน้า 7 หลัง 7 เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ใช้ได้เฉพาะกับสตรีที่มีรอบเดือนปกติ (รอบเดือน หมายถึง จำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือน ไม่ใช่รอบเดือนตามปฏิทิน) มาตรงเวลาสม่ำเสมอทุกเดือน คือ ประมาณ 26-32 วัน ซึ่งโดยปกติแล้วสตรีทั่วไปจะมีรอบเดือนประมาณ 28 วัน แต่บางคนก็มีรอบเดือนที่สั้นกว่าหรือยาวกว่านี้ แต่โดยปกติแล้วจะบวกลบไม่เกิน 2 วัน คือ ไม่สั้นกว่า 26 วัน และไม่ยาวกว่า 32 วัน โดยระยะปลอดภัยที่ว่านี้ก็คือ ระยะในช่วง 7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมารอบหน้า และระยะ 7 วันหลังจากที่ประจำเดือนมาวันแรก (ให้เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา)
ตัวอย่าง : สตรีรายหนึ่งมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอเท่ากันทุกรอบเดือน โดยมีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน สมมติว่าประจำเดือนของนางสาว ก. ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังนั้น ช่วงระยะปลอดภัย “หลัง 7” จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน คือ วันที่ 1 มกราคมไล่ไปจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 มกราคม 2558 ส่วนช่วงระยะปลอดภัย “หน้า 7” นั้น สตรีรายนี้มีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนครบ 28 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 27 มกราคม ก็ให้เอาวันที่ 27 มกราคมเป็นวัน “กำหนดหน้า 7” ฉะนั้นหน้า 7 จะต้องนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมย้อนกลับมาจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 27, 26, 25, 24, 23, 22, 21 มกราคม 2558 ซึ่งจะเป็นช่วงปลอดภัย ที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติครับ จากนี้ก็รอให้ประจำเดือนมาก่อน แล้วจึงเริ่มการนับ “หลัง 7” ใหม่อีกรอบครับ
การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method หรือ Knaus-Ogino method) จะอาศัยหลักทางชีววิทยาที่ว่า “ทุก ๆ 28 วัน สตรีจะมีการตกไข่ในวันที่ 14 ของรอบเดือน (เริ่มนับเป็นวันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมา) ก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ไม่เกิน 2 วัน ดังนั้นโอกาสตกไข่จึงอยู่ในช่วงวันที่ 12-16 ของรอบเดือน เมื่อไข่ตกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1 วัน โอกาสการตั้งครรภ์จึงมีเพิ่มขึ้นจนถึงวันที่ 17 ของรอบเดือน ส่วนเชื้ออสุจิจะมีชีวิตรอผสมอยู่ได้ประมาณ 2 วันก่อนไข่ตก ดังนั้นช่วงที่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้อีกก็คือวันที่ 10 และ 11 ของรอบเดือน พอรวมแล้วก็จะได้วันปลอดภัยคือวันที่ 10-17 ของรอบเดือน”
จากสูตรนี้ถ้ามีรอบเดือนมาสม่ำเสมอก็คงคำนวณได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอนั้น การหาช่วงเวลาปลอดภัยจะต้องทำโดยการจดบันทึก “ความยาวของรอบเดือน” ไว้ทุก ๆ เดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 8-12 เดือน (12 เดือนจะชัวร์สุด) แล้วมาดูว่ารอบเดือนครั้งไหนมีจำนวนวันที่สั้นที่สุดและยาวที่สุด แล้วจึงนำมาคำนวณด้วยสูตรด้านล่างเพื่อหาระยะไม่ปลอดภัย (สูตรนี้จะแม่นยำมากกว่าสูตรหน้า 7 หลัง 7 ครับ) ดังนี้ •วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = จำนวนวันที่สั้นที่สุดของรอบเดือน – 18 •วันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = จำนวนวันที่ยาวที่สุดของรอบเดือน – 11
ยกตัวอย่าง : สตรีรายหนึ่งได้จดจำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือนไว้จำนวน 11 เดือน คือ 26, 24, 25, 28, 26, 27, 29, 30, 26, 28, 29 จะเห็นได้ว่ารอบประจำเดือนที่สั้นที่สุดคือ 24 วัน และยาวสุดคือ 30 วัน เมื่อนำมาคำนวณจะได้วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = 24-18 = 6 ส่วนวันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = 30-11 = 19 ดังนั้น ระยะไม่ปลอดภัยที่สตรีรายนี้ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 จนถึงวันที่ 19 ของรอบเดือนหน้า (ไม่ใช่เดือนตามปฏิทิน) สำหรับวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (ซึ่งเป็นวัยที่มีการตกไข่บ่อยกว่าวัยอื่น) สตรีหลังแท้งบุตร หรือคุณแม่คลอดบุตรใหม่ ที่ประจำเดือนจะยังมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ รังไข่ยังทำงานไม่ปกติ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ครับ เพราะมีโอกาสผิดพลาดได้สูงมาก
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (The standard days method – SDM) เป็นการกำหนดช่วงวันอันตรายไปเลยว่าในวันที่ 8-19 ของรอบเดือน เป็นวันที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนเฉพาะในสตรีที่มีรอบเดือนประมาณ 26-32 วัน (ช่วงปลอดภัยแรกจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1-7 และอีกช่วงปลอดภัยคือตั้งแต่วันที่ 20-32) หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันที่ 8-19 ของรอบเดือน
การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus หรือ Ovulation method) จะอาศัยหลักที่ว่า “มูกปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในแต่ละรอบเดือน” วิธีการสังเกตนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สตรีสามารถสังเกตลักษณะของมูกในช่องคลอดได้ด้วยตนเอง แต่ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่ากล้าสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่ เพราะการตรวจมูกที่ปากมดลูกจะต้องทำทุกวัน โดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด แล้วสังเกตดูการหล่อลื่นของมูกที่ติดนิ้วออกมา แต่สำหรับมือใหม่ก็นับว่าค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน และหลาย ๆ คนไม่สามารถที่จะแยกแยะหรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ยิ่งถ้ามีอาการอักเสบในช่องคลอดหรือมีการร่วมเพศด้วยแล้ว มูกที่ปากมดลูกก็อาจเปลี่ยนจนทำให้ตรวจได้ยากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในทางการแพทย์การเปลี่ยนแปลงของมูกที่ปากมดลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 5-6 ระยะ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ •ระยะปลอดภัยก่อนไข่ตก : เป็นช่วงหลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ ในช่วงแรกจะไม่มีมูก ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองจำนวนไม่มากนัก •ระยะตกไข่ : ช่วงนี้จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้มากที่สุด ระยะนี้มูกที่ปากมดลูกจะมีมาก โดยจะมีลักษณะใสและลื่น (คล้าย ๆ กับไข่ขาวดิบ และสามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร) จึงทำให้ตัวอสุจิจะผ่านมูกนี้เข้าไปในโพรงมดลูกได้สะดวก หากมีการร่วมเพศในช่วงนี้ก็จะเสี่ยงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูง จึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ช่วงนี้หากต้องการคุมกำเนิด •ระยะปลอดภัยหลังการตกไข่ : เป็นระยะที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับระยะก่อนตกไข่ เพราะใกล้จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ในระยะนี้มูกจะมีจำนวนน้อยลง มีลักษณะขุ่นข้นขึ้น และดึงยืดไม่ได้มากนัก
ข้อดีของการตรวจมูกที่ปากมดลูก : มีความปลอดภัยมากและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้ยาใด ๆ อีกทั้งยังไม่ขัดต่อหลักการของบางศาสนาที่เคร่งครัดในเรื่องการคุมกำเนิด เมื่อเลิกคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้แล้วก็ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ตามมา และสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
ข้อเสียของการตรวจมูกที่ปากมดลูก : ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังน้อย มีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะต้องคอยสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดเพื่อสังเกตมูกทุกวัน ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกเบื่อหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของคู่สมรสได้ เช่น บางครั้งต้องการจะมีแต่ไม่ตรงกับระยะที่ไม่ปลอดภัย พอถึงระยะปลอดภัยแต่กลับไม่รู้สึกว่ามีความต้องการ เป็นต้น
การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT) เป็นการใช้ความรู้ด้านสรีรวิทยาที่ว่า อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่ และหลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณครึ่งองศาฯ เมื่อมีการตกไข่ (0.5 degree Celsius/C) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) การจะคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิของตนเองทุกเช้าหลังจากนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดาหลังจากตื่นนอน (เวลาในการวัดหลังตื่นนอนควรจะใกล้เคียงกันทุกครั้งในแต่ละวัน) สามารถวัดได้ทั้งทางรักแร้ ทางปาก ทางทวารหนัก และทางช่องคลอด ซึ่งในการวัดปรอทแต่ละครั้งจะต้องนานประมาณ 5 นาที และที่สำคัญจะต้องทำการวัดปรอทก่อนที่จะทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุก เดิน หรือแม้แต่การพูดจา รวมไปถึงการสะบัดปรอท จึงควรสะบัดปรอทให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอน และควรวางปรอทไว้ใกล้ ๆ ตัว และพร้อมที่จะหยิบใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องลุกจากที่นอน แล้วจึงทำการจดบันทึกเอาไว้ เพื่อดูแนวโน้มและจะได้ประมาณวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ควรวัดติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน
เมื่อวัดปรอทเสร็จแล้วก็ทำความสะอาดปรอทวัดไข้ให้เรียบร้อย รวมถึงการสะบัดปรอทให้พร้อมใช้สำหรับวันรุ่งขึ้นด้วย เมื่อดูจากค่าอุณหภูมิที่บันทึกเอาไว้ เราก็สามารถเลือกวันที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้
ตัวอย่าง : จากกราฟอุณหภูมิร่างกายด้านล่าง จะเห็นว่าวันที่ 1-13 เป็นช่วงก่อนตกไข่ อุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำ พอถึงวันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงมาต่ำสุด และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันถัดไป ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตกไข่ไปแล้ว เมื่อถึงวันที่ 29 ที่เริ่มมีประจำเดือน อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงอีกครั้ง
การสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบการตรวจวัดอุณหภูมิ (Sympto-thermal method) จะเป็นการใช้หลาย ๆ วิธีข้างต้น เช่น การนับวันปลอดภัย การวัดอุณหภูมิ และการสังเกตมูกที่ปากมดลูก ร่วมกับการสังเกตอาการปวดหน่วงท้องน้อยที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ อาการเจ็บคัดตึงเต้านม และการมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยเมื่อมีการตกไข่ (เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ) ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมากขึ้น
การใช้ชุดตรวจการตกไข่ (Ovulation indicator testing kits) ในปัจจุบันมีชุดตรวจคาดคะเนการตกไข่ที่ใช้สำหรับสตรีที่ต้องการจะตั้งครรภ์ และต้องการที่จะกำหนดช่วงเวลาการมีเพศสัมพันธ์ให้ตรงกับวันตกไข่หรือใกล้ช่วงตกไข่มากที่สุด โดยในหลักการแล้วจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteiniz ing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งจะตรวจพบได้ใน 8-12 ชั่วโมงหลังจากมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน LH (LH surge) ในสตรีทั่วไปจะมีฮอร์โมน LH เป็นตัวกระตุ้นให้มีการตกไข่ ปริมาณของฮอร์โมน LH จะเพิ่มสูงขึ้นมากใน 20-48 ชั่วโมงก่อนการตกไข่ เราจึงสามารถใช้ชุดตรวจนี้ในการคุมกำเนิดได้โดยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่มีการตรวจพบฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ
การสวนล้างช่องคลอด (Vaginal Douching) เป็นสุดยอดวิธีเก่าแก่ของคนสมัยก่อนที่ใช้กันมาอย่างยาวนานและแพร่หลาย โดยเฉพาะผู้หญิงพิเศษจะใช้วิธีนี้กันมาก ด้วยการสวนล้างช่องคลอดทันทีเมื่อร่วมเพศเสร็จ วิธีการก็คือการนั่งยอง ๆ แล้วใช้ลูกยางหรือขวดพลาสติกบีบน้ำยาเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งน้ำยาที่ใช้ก็อาจเป็นด่างทับทิม เดทตอล น้ำยาฆ่าอสุจิ หรือน้ำยาสวนล้างช่องคลอดอื่น ๆ แต่จากการศึกษาในสมัยใหม่นั้นพบว่า “ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีสวนล้างช่องคลอดมีความไม่แน่นอนสูง” เพราะภายหลังจากการร่วมเพศเพียง 90 วินาที (หนึ่งนาทีครึ่ง) ก็จะมีอสุจิส่วนหนึ่งว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว ยิ่งถ้าหลังจากร่วมเพศแล้วไม่ได้สวนล้างทันที ก็ยิ่งได้ผลในการป้องกันน้อยลงมาก
ข้อดีของการสวนล้างช่องคลอด : หากไม่มีการป้องกันการตั้งครรภ์ในขณะร่วมเพศ การใช้วิธีนี้ก็ยังดีกว่าการไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีใด ๆ เลย
ข้อเสียของการสวนล้างช่องคลอด : อาจเกิดปัญหาได้เล็กน้อย อย่างเช่น น้ำยาที่ใช้สวนล้างอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง มีอาการคัน หรือเกิดการแพ้น้ำยาในผนังช่องคลอดและปากช่องคลอดได้ หรือหากใช้น้ำยาเข้มข้นเกินไป หรือเลือกใช้ด่างทับทิมที่เป็นเกล็ด ก็ยิ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องคลอดจนเกิดเป็นแผลอักเสบได้
การถ่ายปัสสาวะ (Urination) เป็นวิธีที่ไม่ได้ผลเช่นเดียวกับการสวนล้างช่องคลอด ในการถ่ายปัสสาวะหลังการมีเพศสัมพันธ์เพราะเมื่อฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด เชื้ออสุจิบางส่วนจะเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว วิธีดังกล่าวจึงไม่สามารถป้องกันน้ำอสุจิไม่ให้เข้าไปในโพรงมดลูกได้
การให้นมลูกหลังคลอดบุตรภายใน 6 เดือนแรก (Lactational amenorrhea) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มานานและแพร่หลายมากของชาวบ้านในชนบท เพราะเป็นที่ทราบกันว่าถ้าหากให้ลูกดูดนมหลาย ๆ เดือนหรือดูดนมเป็นปี โอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง เนื่องจากเมื่อทารกดูดนมแม่ ฮอร์โมนโปรแล็กติน (Prolactin) จะหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง และจะระงับการทำงานของฮอร์โมนตัวอื่น ๆ จึงทำให้ไม่มีไข่ตก แต่ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนจะใช้วิธีนี้แล้วได้ผลกันหมด ที่ไม่ได้ผลก็มีบ้างครับ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นครับ โดยประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจะขึ้นอยู่กับความถี่ของการดูดนมและระยะเวลาหลังการคลอด ถ้าทารกดูดนมถี่ ๆ ทุก 3-4 ชั่วโมงก็จะยิ่งได้ผลดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิธีนี้จะใช้ได้ผลในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดเท่านั้น แต่หลังจากผ่าน 6 เดือนแรกไปแล้ว แม้ว่าลูกจะยังดูดนมอยู่ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากฮอร์โมนโปรแล็กตินจะลดน้อยลงในช่วงหลังจากนี้
ข้อดีของการคุมกำเนิดโดยให้นมบุตร : เป็นวิธีที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ และคุณพ่อยังสามารถถึงจุดสุดยอดได้โดยไม่ต้องป้องกันใด ๆ และยังเป็นวิธีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของลูกที่ได้ดูดนมแม่อีกด้วย
ข้อเสียของการคุมกำเนิดโดยให้นมบุตร : เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในระยะสั้น ๆ หรือประมาณไม่เกิน 6 เดือน สำหรับคุณแม่บางคนที่ให้ลูกดูดนมในเฉพาะตอนกลางคืน ส่วนกลางวันใช้นมผงช่วย หรือบางคนที่ต้องทำงานนอกบ้านหลังจากพัก 2-3 เดือนไปแล้วและหยุดให้นมลูก ก็จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้สูง และบางคนก็อาจตั้งครรภ์ได้ แม้จะยังให้ลูกดูดนมอยู่และยังไม่เลย 6 เดือนก็ตาม พอมีการตกไข่ครั้งแรกก็จะมีการผสมและตั้งครรภ์เลยก่อนที่จะมีประจำเดือน ทำให้คุณแม่ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ใหม่แล้วกี่เดือน จึงคำนวณวันคลอดได้ไม่แน่นอน ทำให้ต้องคาดคะเนหรือตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์
ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraception pill) คือ ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน) มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการตั้งครรภ์โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความเหนียวข้นขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนตัวของอสุจิให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้ •ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptive pill) เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตรเจนรวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งมีอยู่ด้วย 2 แบบ ได้แก่ แบบที่มีฮอร์โมนทั้งสองชนิดเท่ากันทุกเม็ด และแบบที่ฮอร์โมนไม่เท่ากัน มีข้อดี คือ ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และอุ้งเชิงกรานอักเสบ เมื่อหยุดใช้ยาแล้วสามารถตั้งครรภ์ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่มีข้อเสีย คือ ยาคุมชนิดนี้จะไม่เหมาะกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน อายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมน และในการใช้ยายังอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น การมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด อาการคัดตึงเต้านม เป็นต้น •ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen only pill) เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว ทำออกมาเพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ข้อดีของยาคุมกำเนิดชนิดนี้ คือ สามารถใช้ในผู้ที่กำลังให้นมบุตร ใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ได้ จะมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ส่วนข้อเสีย คือ จะมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ต้องรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน หากรับประทานผิดเวลาไป 3 ชั่วโมง ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูง นอกจากนี้ในขณะใช้ยาอาจจะไม่มีประจำเดือน แต่อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception pill) คือ ยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินในขนาดสูง โดยมีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยการป้องกันหรือเลื่อนระยะเวลาการตกไข่ จึงช่วยขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่ลืมคุมกำเนิด หรือเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝันขณะมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางอนามัยรั่วหรือแตก มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน แต่ได้ผลดีที่สุดถ้ารับประทานเข้าไปหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ทันทีหรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง มีผลข้างเคียงคือ ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย
ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวแบบหนึ่ง โดยจะเป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของสตรีในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หลังจากฉีดตัวยาจะค่อย ๆ ขับฮอร์โมนออกมา เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในรายที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ทำได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูก โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้ •ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งเป็นยาฉีดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงอย่างเดียว คือ ยา Depot Medroxyprogesterone acetate (DMPA) ขนาด 150 มิลลิกรัม (ใช้ฉีดเข้ากล้ามทุก 3 เดือน) เป็นตัวยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน มีชื่อทางการค้าว่า Depo-Provera® และอีกชนิดคือยา Norethisterone Enanthate (NET-EN) ขนาด 200 มิลลิกรัม มีชื่อทางการค้าว่า Noristerat® (ใช้ฉีดเข้ากล้ามทุก 2 เดือน) •ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เป็นยาฉีดคุมกำเนิดแบบใหม่ที่ผลิตมาเพื่อลดอาการผิดปกติของประจำเดือน ในยาฉีดจะมีทั้งฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ชนิดนี้มีชื่อทางการค้าว่า Cyclofem® และ Lunelle™ ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อด้อยของยาฉีดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและเพื่อเป็นการเลียนแบบฮอร์โมนของร่างกาย (ใช้ฉีดเข้ากล้ามทุก ๆ 1 เดือน)
ข้อดีของการฉีดยาคุมกำเนิด •สามารถรับบริการได้ง่าย เนื่องจากวิธีการและอุปกรณ์สำหรับการให้บริการไม่ยุ่งยาก เลือกให้บริการแก่สตรีทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง เพราะยาฉีดมีข้อห้ามในการใช้ยาน้อย •มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก •ราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการใส่ห่วงอนามัย •ให้ความสะดวก ใช้งานง่าย ฉีดครั้งเดียวก็สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน โดยไม่ต้องใช้ทุกวันเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด •ไม่ขัดขวางขั้นตอนต่าง ๆ ของการร่วมเพศ •สามารถใช้ได้ดีในขณะให้นมลูก เพราะไม่ทำให้น้ำนมแห้ง •การไม่มีประจำเดือนภายหลังการฉีดมีผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง •มีผลพลอยได้ทางด้านสุขภาพอื่น ๆ หลายอย่างตามที่กล่าวมา
ข้อเสียของยาฉีดคุมกำเนิด •จะต้องเสียเวลาไปสถานที่รับบริการบ้างและอาจทำให้ลืมเวลานัดได้ •ต้องให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นคนฉีดยาให้ •ประจำเดือนอาจเปลี่ยนแปลง มาไม่สม่ำเสมอ มากะปริดกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือน และหลาย ๆ รายมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น •เนื่องจากการที่มีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอย (ในช่วงแรกของการฉีด หรืออาจจะหลายเดือน) จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่ตลอดเวลา จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาโดยไม่ได้นัดแนะ ปัญหาที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความอับชื้น มีตกขาว เป็นต้น •เมื่อเกิดอาการข้างเคียงจะต้องรอจนกว่ายาคุมจะหมดฤทธิ์ อาการถึงจะหายไปเอง •เมื่อหยุดฉีดร่างกายจะยังไม่พร้อมมีลูกได้ทันที โดยอาจจะต้องรอไปเกือบ 1 ปี •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง (เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีที่สุด) โดยเป็นการใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว คือ โปรเจสติน (Progestin) ที่บรรจุเอาไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกเล็ก ๆ ขนาดเท่าไม้จิ้มฟันชนิดกลม นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกายและไปยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้
ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด •ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก (สูงที่สุดในโลก) รองจากการไม่มีเพศสัมพันธ์ •เป็นวิธีที่มีความสะดวก ฝังครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี •ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน จึงช่วยลดโอกาสการลืมกินยา หรือลดโอกาสฉีดยาคุมคลาดเคลื่อนไม่ตรงกำหนด ที่ต้องไปฉีดยาทุก ๆ 1-3 เดือน •เนื่องจากยาฉีดคุมกำเนิดมีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ไม่ได้รับผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน •สามารถเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ เมื่อต้องการจะมีบุตรหรือเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น •ใช้ได้ดีในผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่มีผลต่อการหลั่งของน้ำนม •ไม่ทำให้การทำงานของตับเปลี่ยนแปลง •หลังจากถอดออกจะสามารถมีลูกได้เร็วกว่าการฉีดยาคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อยและไม่มีการสะสมในร่างกาย •มีผลพลอยได้จากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ทำให้อาการปวดประจำเดือนมีน้อยลง, ลดโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูก, ป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, ลดอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจาง ฯลฯ
ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด •การฝังและการถอดจะต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมแล้ว จึงไม่สามารถใช้หรือถอดได้เอง •ในบางรายสามารถคลำแท่งยาในบริเวณท้องแขนได้ •อาจพบว่าตำแหน่งของแท่งยาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม (พบได้น้อย) •ประจำเดือนอาจมาแบบกะปริดกะปรอย จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่เสมอ จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว (แต่เมื่อผ่านระยะหนึ่งปีขึ้นไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะน้อยลง) •อาจพบภาวะแทรกซ้อนหลังการฝังยาคุมกำเนิดได้ เช่น มีก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง
แผ่นแปะคุมกำเนิด (Contraceptive patch) คือ วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ยาฮอร์โมนที่มีลักษณะเป็นแผ่นแปะ ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ยาในกลุ่มเอสโตรเจนสังเคราะห์ (Synthetic estrogen) และยาในกลุ่มโปรเจสติน (Progestin) มีไว้ใช้สำหรับแปะบริเวณผิวหนังเพื่อให้ตัวยาในแผ่นแปะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ ส่วนกลไกการออกฤทธิ์หลัก ๆ จะเหมือนกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมครับ เพราะฮอร์โมนที่นำมาใช้จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน
ข้อดีของแผ่นแปะคุมกำเนิด •ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดสูงเทียบเท่ากับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหากใช้อย่างถูกต้อง ผู้ใช้รู้ตัวเองว่ากำลังคุมกำเนิดอยู่มั่นใจได้ •ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วลืมทานบ่อย ๆ •สามารถอาบน้ำ ว่ายน้ำ อบไอน้ำ เซาน่า และออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยไม่ต้องแกะแผ่นแปะคุมกำเนิดออกแต่อย่างใด •ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา •มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด •เนื่องจากแผ่นแปะคุมกำเนิดใช้ฮอร์โมนเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด (Yasmin, Oilezz) จึงสามารถช่วยลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้ •หลังจากเลิกใช้จะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์หรือพร้อมตั้งครรภ์ได้ทันที
ข้อเสียของแผ่นแปะคุมกำเนิด •ก่อนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ •ต้องมีความร่วมมือจากผู้ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ในการแปะแผ่นยาอย่างถูกต้อง •ต้องคอยเปลี่ยนแผ่นยาเมื่อครบ 7 วัน •อาจมีอาการข้างเคียงบ้างเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด (แต่จะมีน้อยกว่าและจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน) •ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing®) มีลักษณะเป็นแหวนพลาสติกขนาดเท่ากำไลข้อมือ ขนาดเส้นกลางศูนย์กลางประมาณ 5.5 เซนติเมตร (มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 54 มิลลิเมตร และมีความหนา 4 มิลลิเมตร) ผลิตมาจากวัสดุที่เรียกว่า “เอธิลีนไวนิลอะซิเตทโคโพลิเมอร์” ซึ่งผิวมีลักษณะเรียบ โปร่งใส ไม่มีสี ตัววงแหวนนุ่มและยืดหยุ่น ไม่ละลายในร่างกาย ภายในวงแหวนพลาสติกจะบรรจุไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่เราใช้กันอยู่ โดยจะประกอบไปด้วย Etonogestrel (โปรเจสโตรเจน) 11.7 มิลลิกรัม และ Ethinyl estradiol (เอสโตรเจน) 2.7 มิลลิกรัม โดยมีไว้ใช้สำหรับใส่เข้าไปในช่องคลอดและฮอร์โมนจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ
์
ข้อดีของวงแหวนคุมกำเนิด •สวมใส่และถอดออกได้ง่ายด้วยตัวเอง •เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม •เหมาะสำหรับผู้หญิงทุกคนที่ต้องการความสะดวกในการคุมกำเนิด หรือมักลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำ •สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ หรือทำให้เกิดการระคายเคืองหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง •ช่วยลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมน เนื่องจากตัววงแหวนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยฮอร์โมนออกมาในระดับต่ำและคงที่ จึงช่วยลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย ช่วยลดสิว ลดหน้ามัน ลดขนดก ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ •เป็นการดูดซึมฮอร์โมนเฉพาะที่ จึงไม่รบกวนระบบการทำงานของร่างกายทั้งหมด ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อเสียของวงแหวนคุมกำเนิด •จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อ •ในครั้งแรกที่ใส่วงแหวนคุมกำเนิด จะยังไม่สามารถคุมกำเนิดได้ทันที จำเป็นต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย •ในบางรายใส่แล้วอาจเกิดการระคายเคืองช่องคลอด ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในช่องคลอดและทำให้มีตกขาวมากขึ้นได้ •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ห่วงอนามัย (Intrauterine device) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีไว้สำหรับใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของสตรี เพื่อทำให้สภาพในโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน จึงใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราวได้ดี โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้ •ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (IUD with copper) ในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่จะมี 2 ชนิด คือ มัลติโหลด (มีอายุการใช้งานได้ 3 ปี สำหรับ Cu250 และ 5 ปี สำหรับ Cu375) และคอปเปอร์ที (มีอายุการใช้งาน 10 ปี)
•ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน (IUD with progestogen) มีอยู่ด้วยกัน 2 ขนาด คือ LNg14 (Skyla®) ที่ใช้คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี และ LNg20 (Mirena®) ที่ใช้คุมกำเนิดได้นาน 5 ปี
ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัย •การใส่ห่วงเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย มีความสะดวก เนื่องจากใส่เพียงครั้งเดียว ที่สำคัญคือเป็นวิธีที่ประหยัดและมีความปลอดภัยสูง •ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงและยาวนาน (ประมาณ 3-10 ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วง) •เหมาะสำหรับคนขี้ลืมที่ไม่ต้องคอยมารับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน หรือต้องได้รับการฉีดยาคุมทุก 1-3 เดือน •ไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนคุม •ไม่ทำให้ความรู้สึกในการร่วมเพศเปลี่ยนไปหรือน้อยลงจากเดิม (ไม่เหมือนกับการใส่ถุงยางอนามัย) •ทำให้รู้สึกสบายใจ เพราะมีประจำเดือนมาทุกเดือนตามปกติ •สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ •ถ้าอยากมีลูกก็สามารถถอดห่วงออกและเริ่มมีลูกได้ทันที โดยไม่ต้องรอนานเหมือนยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิด
ข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัย •การใส่ห่วงอนามัยอาจมีความยุ่งยากบ้างเล็กน้อย เพราะต้องให้แพทย์เป็นผู้ใส่ให้ •ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะไม่ใช่อาการร้ายแรงอะไร •ห่วงอนามัยอาจทะลุเข้าไปในช่องท้องได้ แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ถุงยางอนามัยชาย (Male latex condom) คือ อุปกรณ์ที่ใช้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง (หากใช้อย่างถูกวิธี) สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์ นอกจากจะใช้เพื่อคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อแล้ว ยังนิยมใช้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการร่วมเพศอีกด้วย โดยมีการผลิตให้มีขนาด รูปร่าง และสีสันที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งแบบเรียบและแบบที่มีกระเปาะ (ถุงเก็บน้ำอสุจิที่ส่วนปลาย) บางชนิดมีกลิ่นหรือรสชาติของผลไม้ หรือน้ำหอมชนิดต่าง ๆ บางชนิดมีสีสันสดใสหรือเคลือบไปด้วยสารเรืองแสงที่มองเห็นได้ในที่มืด ซึ่งมีทั้งแบบทึบแสงและแบบบางใส บ้างเคลือบด้วยสารหล่อลื่นหรือตัวยาบางชนิดที่ช่วยทำให้ร่วมเพศได้นานขึ้น เป็นต้น
ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย •การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ถ้าถุงยางมีคุณภาพได้มาตรฐานและใช้กันอย่างถูกวิธี ก็จะได้ผลป้องกันที่ดีมากพอสมควร •สามารถพกติดตัวได้ง่ายและสะดวก •หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมีราคาไม่แพง ศูนย์อนามัยหรือโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งก็แจกฟรี •การใช้ถุงยางอนามัยสามารถช่วยลดการหลั่งเร็วได้ในบางราย และในปัจจุบันถุงยางอนามัยหลาย ๆ ยี่ห้อก็ถูกผลิตมาเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการร่วมเพศอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผิวสัมผัส สีสัน กลิ่น รส รวมไปถึงบางชนิดที่ช่วยชะลอการหลั่งทำให้ร่วมเพศได้นานขึ้น เหล่านี้จึงช่วยให้การร่วมเพศเป็นไปอย่างมีความสุขและยาวนานยิ่งขึ้น •ไม่มีผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายเหมือนการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ในกรณีของคนที่ต้องการมีลูก เมื่อหยุดใช้ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เลย •ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี
ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัย •ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ •อาจทำให้อารมณ์ของทั้งคู่สะดุดลงหรือทำให้อารมณ์ไม่ต่อเนื่อง เมื่อต้องมาเสียเวลาสวมใส่ถุงยางอนามัย ในบางรายถึงกับอวัยวะเพศอ่อนตัวไปเลยก็มี •ในขณะใช้อาจรู้สึกว่าถุงยางอนามัยนั้นเป็นตัวขวางกั้นความสุขและความแนบแน่นของทั้งคู่ ทำให้ความรู้สึกสัมผัสลดลงและทำให้เสียอารมณ์ไปบ้างในขณะร่วมเพศ •ในบางรายพบว่ามีอาการแพ้สารเคมีที่เคลือบถุงยาง ซึ่งการแพ้นั้นจะเกิดขึ้นกับฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ได้ •การใช้ถุงยางในขนาดไม่พอดี อาจทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ อาจทำให้หลวมและหลุดหรือเกิดการฉีกขาดได้
ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom) คือ อุปกรณ์ที่มีไว้ใช้สำหรับสอดเข้าไปภายในช่องคลอดของสตรีก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าสู่โพรงมดลูก (หลักการเดียวกับถุงยางอนามัยชาย) โดยลักษณะของถุงยางอนามัยสตรีจะมีความยาว 6.5 นิ้ว หรือยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ที่ปลายถุงทั้งสองด้านมีห่วงยางหรือวงแหวนยืดหยุ่น 2 วง ห่วงจะมีลักษณะแข็งกว่าส่วนอื่น มีไว้เพื่อให้เกิดความกระชับและเพื่อให้คงรูปร่างไว้ได้ในขณะใช้งาน ปลายถุงด้านหนึ่งตันเพื่อใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด ส่วนปลายถุงอีกด้านหนึ่งจะเป็นปลายเปิด ยื่นออกมานอกช่องคลอด ภายในถุงยางจะมีน้ำยาหล่อลื่น แต่ไม่มียาฆ่าเชื้ออสุจิ
ข้อดีของถุงยางอนามัยสตรี •สามารถใส่และถอดได้เองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหรือต้องรอพึ่งพาฝ่ายชายให้เป็นคนสวมถุงยางอนามัยชาย (ฝ่ายหญิงจะมีส่วนร่วมในการคุมกำเนิด เพราะหากผู้ชายไม่ยอมคุมกำเนิดโดยการใส่ถุงยาง ฝ่ายหญิงก็สามารถคุมกำเนิดได้ด้วยตัวเอง) •มีความทนทานมากกว่าถุงยางอนามัยชาย และสามารถใช้ร่วมกับเจลหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันได้ •ไม่ต้องรีบถอนอวัยวะเพศชายออกจากช่องคลอดทันทีเมื่อหลั่งน้ำอสุจิ เหมือนการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชาย •มีความปลอดภัย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย จึงทำให้มีไม่มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมน ประจำเดือนมาตามปกติ •การสอดใส่ถุงยางอนามัยได้ลึกจะทำให้ไม่ก่อปัญหาในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ •เมื่อหยุดใช้ ก็สามารถมีลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ •ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกันกับการใช้ถุงยางอนามัยชาย เช่น ซิฟิลิส หนองใน ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์
ข้อเสียของถุงยางอนามัยสตรี •มีอัตราการล้มเหลวสูงหากใช้อย่างไม่ถูกวิธี •ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หาซื้อได้ยาก และมีราคาแพงกว่าถุงยางอนามัยชาย •ขั้นตอนการใส่ค่อนข้างยุ่งยากเล็กน้อย การสอดถุงยางอาจจะมีความลำบากสำหรับบางคน •ผู้หญิงบางรายอาจสูญเสียความมั่นใจหรือเสียอารมณ์ทางเพศได้ เพียงแค่เห็นถุงยางอนามัยที่ห้อยออกมานอกช่องคลอด !! อีกทั้งถุงยางยังขนาดใหญ่ ลักษณะพร้อมใช้อาจดูไม่น่ามองนักสำหรับบางคน •ในระหว่างการร่วมเพศอาจจะเกิดเสียงดัง จนอาจทำให้ขัดจังหวะในการร่วมเพศได้ และผู้ใช้บางรายอาจมีอาการเจ็บแสบในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย (ในกรณีนี้ให้ใส่น้ำยาหล่อลื่นเพิ่ม) •ฝ่ายชายอาจสอดใส่เข้าไปผิดตำแหน่งในขณะร่วมเพศได้ •ในระหว่างการใช้ ถุงยางอาจหลุดเข้าไปค้างอยู่ในช่องคลอดได้ •ถุงยางอาจมีสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง จนทำให้เกิดอาการคันได้ และในบางรายอาจทำให้มีตกขาวได้ด้วย
ยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราววิธีหนึ่ง โดยเป็นการใส่ยาเข้าไปในช่องคลอดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้ตัวยาทำลายหรือฆ่าเชื้ออสุจิหลังจากการมีเพศสัมพันธ์และมีการหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอด ตัวยาจะทำให้เชื้ออสุจิที่อยู่ในช่องคลอดตาย ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่มดลูกไปผสมกับไข่ได้ เมื่อไม่มีการผสมกับไข่ จึงไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งยาฆ่าเชื้ออสุจิที่นำมาใช้กันในปัจจุบันก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ยาเหน็บช่องคลอด ยาเม็ดฟองฟู่ ฟองอัดในกระป๋อง ครีม เยลลี่ เป็นต้น
ข้อดีของยาฆ่าเชื้ออสุจิ •เป็นยาที่ใช้ได้ง่าย สามารถใช้ได้ด้วยตนเองหรือคู่นอน ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ •มีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ •ยานี้มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนมีน้อย •ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนการคุมกำเนิดแบบอื่น •เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ไม่ได้พบกันบ่อย เพราะจะใช้เฉพาะเวลาร่วมเพศเท่านั้น •สามารถใช้ได้ในสตรีที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ข้อเสียของยาฆ่าเชื้ออสุจิ •ประสิทธิภาพในด้านการคุมกำเนิดยังไม่สูงนัก จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากถ้าใส่ยาเข้าไปไม่ลึกพอ หรือยายังไม่กระจายตัวดีพอ หรือใช้ยาไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้จะใส่ยาไว้รอก็ไม่ได้ จะต้องใส่ยาในช่วงเวลาที่จำกัดเท่านั้น (10-15 นาที) ซึ่งอาจทำให้ขัดต่อความรู้สึกและอารมณ์ของทั้งคู่ได้ •เนื่องจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง การป้องกันการตั้งครรภ์จึงต้องใช้ร่วมกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นเสมอ •ในบางคู่จะไม่นิยมใช้วิธีคุมกำเนิดรูปแบบนี้กันมากนัก เพราะยาที่ใส่เข้าไปอาจทำให้รู้สึกเหนียว แฉะ เปื้อน หรือมีการหล่อลื่นในช่องคลอดมากเกินไป จนก่อให้เกิดความรำคาญได้ •ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ และต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิทุกครั้ง เช่น หลอดฉีดโฟม หลอดฉีดของเหลวเข้าไปในช่องคลอด เป็นต้น •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ •ในรายที่แพ้ยา อาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง บวมแดง หรือแสบได้
หมวกครอบปากมดลูก (Cervical Cap) คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับคุมกำเนิดในสตรีแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ทำมาจากยางธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์หรือซิลิโคน (Silicone) ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิวก็ได้ ผู้ใช้จึงไม่เกิดอาการแพ้ ยกเว้นในรายที่แพ้สารนั้น ๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยหมวกครอบจะมีไว้ใช้ใส่เข้าไปในช่องคลอดให้ตัวหมวกไปสวมครอบที่ปากมดลูกก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิวิ่งเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อผสมกับไข่ ส่วนมากตัวหมวกจะมีการใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิไว้ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอีกทางหนึ่ง
ข้อดีของหมวกครอบปากมดลูก •ใช้เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ไม่ได้พบกันบ่อย เพราะจะใช้เฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์เท่านั้น •สามารถใช้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ •ตัวอุปกรณ์ไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมน จึงทำให้ไม่เกิดผลข้างเคียงจากการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน •ผลข้างเคียงของหมวกครอบปากมดลูกมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก •หากเลือกใส่หมวกครอบปากมดลูกได้ถูกขนาดและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องในช่องคลอด จะไม่มีปัญหาในขณะมีเพศสัมพันธ์ •ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ เมื่อหยุดใช้งาน ก็สามารถมีลูกได้ทันที
ข้อเสียของหมวกครอบปากมดลูก •หาซื้อได้ไม่สะดวก ขั้นตอนในการใส่หมวกครอบปากมดลูกจะค่อนข้างยุ่งยาก •มีโอกาสล้มเหลวจากการคุมกำเนิดได้ง่าย แม้จะใช้อย่างถูกต้องก็ตาม แต่จะยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นไปอีกหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม •ในบางรายที่ใช้หมวกครอบปากมดลูกอาจระคายเคืองต่อสารที่ใช้ มีอาการคัน และทำให้มีตกขาวได้ •หมวกครอบปากมดลูกที่ค้างอยู่ในช่องคลอดหลังการใช้ อาจเอาออกมาไม่ได้ •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับคุมกำเนิดในสตรีแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง ตัวฝาครอบนั้นผลิตมาจากวัสดุสังเคราะห์และจากธรรมชาติทั้งซิลิโคน (Silicone) Latex หรือยางธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายรูปถ้วยตื้น ๆ ด้านหนึ่งตัน ส่วนอีกด้านหนึ่งเปิด ผนังบางและนิ่ม ที่ขอบเป็นวงแข็งกว่าส่วนอื่นเพื่อช่วยให้คงรูปอยู่ได้ด้านเดียว ขนาดเล็กรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีไว้สำหรับใส่เข้าไปในช่องคลอดสตรีในลักษณะวางขวางหรือปิดทางเข้าในมดลูกก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อผสมกับไข่ ส่วนมากแล้วตัวฝาครอบจะมีการใส่สารฆ่าเชื้ออสุจิเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอีกทางหนึ่ง
ข้อดีของฝาครอบปากมดลูก •ง่ายต่อการพกพาและใช้คุมกำเนิดได้ทันที •สามารถใช้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ต้องพึ่งพาการคุมกำเนิดจากฝ่ายชายในการใช้ถุงยางอนามัย •การมีเพศสัมพันธ์ไม่มีการสะดุดเพราะต้องใส่ฝาครอบก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนกับการใส่ถุงยางอนามัย •ไม่มีส่วนผสมของยาฮอร์โมน จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน •ไม่มีผลต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ เมื่อหยุดใช้ ภาวะการเจริญพันธุ์จะกลับมาทันที •สามารถใช้ได้ในช่วงที่ให้นมบุตร
ข้อเสียของฝาครอบปากมดลูก •หาซื้อได้ไม่สะดวก มีขั้นตอนในการใส่และถอดเก็บค่อนข้างจะยุ่งยากเล็กน้อย •ต้องใส่ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ขัดจังหวะการร่วมเพศ •มีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์สูง แม้จะใช้อย่างถูกต้องก็ตาม และจะยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นไปอีกหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม •อาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคืองต่อยาที่ใช้ มีอาการคัน และทำให้มีตกขาวได้ •หากฝาครอบปากมดลูกค้างอยู่ในช่องคลอดและเอาออกเองไม่ได้ ต้องมาที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ฟองน้ำคุมกำเนิด (Contraceptive Sponge) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวของสตรี ตัวฟองน้ำจะมีลักษณะเป็นรูปกลม รูปรี หรือเป็นรูปคล้ายโดนัท มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ที่ปลายด้านหนึ่งจะมีสายไว้สำหรับนำออกจากช่องคลอด ซึ่งตัวฟองน้ำจะมีลักษณะเป็นโฟมซึ่งทำมาจากสารสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ มีคุณลักษณะเป็นสารปุพรุนและเคลือบไปด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicide) มีไว้ใช้สำหรับสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของสตรีให้ลึกที่สุดก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยอาจใส่ไว้ในช่องคลอดได้นานถึง 24 ชั่วโมง ในระหว่างนี้ถ้ามีการร่วมเพศหลายครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาเพิ่ม
ข้อดีของฟองน้ำคุมกำเนิด •เป็นอุปกรณ์การคุมกำเนิดที่พกพาได้สะดวก พกไปไหนได้ง่าย •สามารถใช้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ต้องพึ่งพาการคุมกำเนิดจากฝ่ายชายในการใช้ถุงยางอนามัย •การมีเพศสัมพันธ์ไม่มีการสะดุดเพราะต้องใส่ฟองน้ำคุมกำเนิดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนการใส่ถุงยางอนามัย •ฟองน้ำคุมกำเนิดไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมน จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ฯลฯ •ไม่มีผลต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ เมื่อหยุดใช้ภาวะการเจริญพันธุ์จะกลับมาทันที •สามารถใช้ได้ในขณะให้นมบุตร
ข้อเสียของฟองน้ำคุมกำเนิด •ขั้นตอนการใส่และถอดฟองน้ำคุมกำเนิดค่อนข้างจะยุ่งยาก และอาจทำให้เลอะเทอะ •ต้องใส่ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ จึงอาจทำให้ขัดจังหวะในการร่วมเพศ •ในบางรายอาจมีการระคายเคืองในช่องคลอด •โอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ยังอยู่ในระดับเสี่ยง แม้จะใช้อย่างถูกต้องก็ตาม และจะยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นไปอีกหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
การทำหมันหญิง (Female Sterilization) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ปลอดภัย มีอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์น้อยมาก เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หลังทำหมันก็สามารถทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ห้ามยกของหนักในช่วง 3-4 วันแรกเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามอื่น ๆ สามารถร่วมเพศได้เลย เพราะให้ผลในการคุมกำเนิดแบบทันที ไม่ต้องรอนาน 3-4 เดือนเหมือนที่เข้าใจกัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้
•การทำหมันหลังคลอด (การทำหมันเปียก) เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร โดยนิยมทำในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการคลอดบุตร เนื่องจากสามารถทำได้โดยง่าย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดโตลอยอยู่ในช่องท้องเหนืออุ้งเชิงกราน จึงทำให้สามารถหาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างได้ง่าย วิธีที่นิยมทำกันก็คือ การลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แล้วทำการผูกท่อนำไข่และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนอนพักโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จึงจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัดประมาณ 6-7 วัน จึงมาตัดไหม ส่วนคนที่ผ่าท้องคลอด แพทย์จะทำหมันไปพร้อมกันเลย จะได้ไม่ต้องมาทำใหม่อีก ซึ่งจะต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน และแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะฉะนั้นผู้ที่คิดจะทำหมันด้วยวิธีนี้จะต้องคิดและตัดสินใจให้แน่วแน่ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดเสร็จจะได้ทำหมันได้เลย •การทำหมันปกติ (การทำหมันแห้ง) เป็นการทำหมันในระยะที่ไม่ใช่ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร มดลูกจะมีขนาดปกติและอยู่ในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดจึงมีความยากในการหาท่อนำไข่มากกว่าการทำหมันเปียก แต่ก็ใช้เวลาทำไม่นานครับ เพียงแค่ 10-15 นาที เมื่อทำเสร็จแล้วหมอจะให้นอนพักประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้เลย พร้อมกับให้ยาแก้ปวดไปกิน อีกประมาณ 6-7 วันจึงค่อยกลับมาให้หมอตัดไหม ซึ่งการทำหมันแห้งก็สามารถทำได้โดยการผ่าตัดหน้าท้อง (Laparotomy) และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) •การทำหมันหญิงแบบอุดท่อนำไข่ (Essure) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 2 วิธีแรก โดยจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ไข่กับสเปิร์มมาเจอกัน โดยใช้วัตถุขนาดเล็กที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ สอดเข้าไปในท่อนำไข่ โดยใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก ใส่เข้าไปทางช่องคลอด ผ่านปากมดลูก เพื่อสร้างปฏิกิริยากระตุ้นให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อนำไข่ ซึ่งจะใช้เวลาในการทำเพียง 5 นาทีเท่านั้น หลังทำเสร็จก็ไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดแต่อย่างใด และเพียงชั่วเวลา 3 เดือนหลังทำหมัน เนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ขดลวดก็จะเจริญเติบโตจนท่อนำไข่ถูกอุดตันลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากใส่อุปกรณ์เข้าไป ผู้ทำหมันสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเพื่อรอให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อรังไข่ได้ทั้งหมดก่อน •การทำหมันหญิงโดยการตัดมดลูก (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกไปจากร่างกาย (ไม่รวมรังไข่) ซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบถาวร และวิธีนี้ยังใช้สำหรับการรักษาโรคบางโรคได้อีกด้วย เช่น มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
ข้อดีของการทำหมันหญิง •การทำหมันหญิงเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการวางแผนครอบครัว •เป็นวิธีที่ประหยัด สะดวก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการคุมกำเนิด ไม่ต้องกลัวลืมรับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด และไม่ต้องเสียเวลาในการเข้ารับบริการการคุมกำเนิด •เนื่องจากไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน จึงช่วยลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนได้ •ไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการมีเพศสัมพันธ์ •ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
ข้อเสียของการทำหมันหญิง •ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง •หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
การทำหมันชาย (Male sterilization) คือ การคุมกำเนิดถาวรโดยการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้ออสุจิเดินทางเข้ามาในช่องคลอดขณะร่วมเพศได้ แต่ทั้งนี้ลูกอัณฑะยังคงผลิตเชื้ออสุจิและฮอร์โมนอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวอสุจิจะไม่สามารถเดินทางผ่านท่ออสุจิมาได้ และจะสลายตัวไปเองตามกรรมวิธีของร่างกาย โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำกามก็ยังคงมีเหมือนเดิมตามปกติครับ
ข้อดีของการทำหมันชาย •เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่าการทำหมันหญิง ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดถูก เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ ผ่าตัดเพียงครั้งเดียว สามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต (แต่ก็ไม่ 100%) •การทำหมันชายเป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย มีความปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิง •ช่วยเพิ่มความสุขทางเพศหลังการทำหมัน คู่สมรสรู้สึกมีอิสระในการร่วมรักกันมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากคู่สมรสไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ •ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศของเพศชาย เนื่องจากการผ่าตัดไม่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทหรือเกี่ยวกับการสร้างหรือการใช้ฮอร์โมนเพศของร่างกายแต่อย่างใด •ไม่มีผลต่อพละกำลังในการทำงานหนัก คุณสามารถทำงานหนักตามปกติ •ไม่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งอัณฑะ หรือโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งของผู้ทำหมันและของภรรยา
ข้อเสียของการทำหมันชาย •หลังทำหมันแล้วจะต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงจะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา •ในบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดทำหมันชายได้ตามที่กล่าวไป แต่ก็พบได้น้อยมาก หรืออาจมีการติดเชื้อบริเวณแผลที่ผ่าตัดได้ •หากทำหมันไปแล้วการแก้หมันจะได้ผลไม่ดี •ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ที่มา : www.medthai.com